Skip to content
พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands For Thai) กรมทรัพยากรน้ำ

พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands For Thai) กรมทรัพยากรน้ำ

กรมทรัพยากรน้ำ

  • หน้าหลัก
  • พื้นที่ชุ่มน้ำ
    • เกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำ
      • นิยามความหมาย
      • ประเภท
    • ความสำคัญพื้นที่ชุ่มน้ำ
    • พื้นที่ชุ่มน้ำของไทย
      • พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญของประเทศ
        • พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (แรมซาร์ไซต์)
        • พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ
        • พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ
      • พื้นที่ชุ่มน้ำแบ่งตามสถานภาพการอนุรักษ์
        • พื้นที่ชุ่มน้ำในเขตพื้นที่อนุรักษ์
        • พื้นที่ชุ่มน้ำนอกเขตอนุรักษ์
        • พื้นที่เครือข่ายนกอพยพ
  • อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ
    • ภูมิหลังอนุสัญญา
    • การเข้าร่วมเป็นภาคี
    • ประเทศภาคี
    • เนื้อหา
    • หลักเกณฑ์
    • ผลดี
    • กลไกการบริหารอนุสัญญาฯ
    • การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ​
    • ประเด็นที่อนุสัญญาฯ ให้ความสำคัญ​
    • การดำเนินงานตามอนุสัญญา
      • คณะอนุกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
      • คณะทำงานวิชาการพื้นที่ชุ่มน้ำ
      • ความริเริ่มภายใต้สัญญา
      • วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก
  • ข่าวประชาสัมพันธ์
    • ข่าวเด่น
    • ข่าวกิจกรรม
    • ภาพกิจกรรม
  • Download
    • กฎหมายน่ารู้
      • กฎหมาย
      • มติคณะรัฐมนตรี
      • นโยบาย
    • แผ่นพับ
    • หนังสือ/เอกสารแนะนำ
    • โปสเตอร์
  • เกี่ยวกับเรา​
    • เกี่ยวกับโครงการ
    • กองอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ
    • ติดต่อเรา
  • Toggle search form

ประเด็นที่อนุสัญญาฯ ให้ความสำคัญ​

ประเด็นที่อนุสัญญาฯ ให้ความสำคัญ

ในส่วนของประเด็นที่เกี่ยวข้องตามภาระหน้าที่ในการดำเนินงานตามพันธกรณีของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ มี 5 ประเด็น ด้วยกัน ดังนี้

1) วัฒนธรรมและพื้นที่ชุ่มน้ำ
2) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ
3) พื้นที่ชุ่มน้ำในเมือง
4) การอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล
5) บริการจากระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ

วัฒนธรรมและพื้นที่ชุ่มน้ำ

ประเทศภาคี ตระหนัก ถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งมีส่วนในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัฒนธรรมทางวัตถุ (non-material culture) แต่เป็นวัฒนธรรม ทางจิตใจอันทรงคุณค่ายิ่งต่อชีวิตของมนุษย์ เช่น ดนตรี ตำนาน เทพนิยาย ความเชื่อ ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นพื้นฐานความสำคัญของโครงสร้างทางสังคมและวิธีปฏิบัติ ในการจัดการทรัพยากรพื้นที่ชุ่มน้ำ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรัพยากรน้ำ และคุณค่าทางวัฒนธรรมของพื้นที่ชุ่มน้ำยังคงมีความสำคัญต่อสังคมหรือชุมชนที่อาศัยอยู่ภายในและรอบๆ บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ และเป็นส่วนหนึ่งใน “เอกลักษณ์” ของชุมชนแห่งนั้น การสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำนอกจากจะทำให้ชุมชนท้องถิ่นแยกห่างออกจาก พื้นที่ชุ่มน้ำแล้ว ยังส่งผลกระทบในทางลบต่อระบบนิเวศและสังคมด้วย ซึ่งแสดงว่าความรู้และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นมรดกอันทรงคุณค่ายิ่งต่อสังคมมนุษย์ ในปัจจุบัน และวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก มีส่วนสำคัญต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตจึงสนับสนุนให้ประเทศภาคีดำเนินการ ดังนี้

  • – รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ประเมินเกี่ยวกับองค์ประกอบและคุณค่าทางวัฒนธรรมพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยเฉพาะเมื่อจัดทำ Ramsar Information Sheet หรือเมื่อทำการปรับปรุงข้อมูลใน Ramsar Information Sheet ของพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีคามสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) ที่มีอยู่โดยพิจารณาถึงประเด็นของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา จารีตประเพณีโดยสอดคล้องกับกฎระเบียบขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
  • – ส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นหรือประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้กับพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมทั้งสาธารณชนทั่วไป ตระหนักถึงความสำคัญของคุณค่าทางวัฒนธรรมของพื้นที่ชุ่มน้ำ
  • – ผนวกรวมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมรดกทางวัฒนธรรมเข้าในแผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ทั้งในขั้นตอนของการวางแผนและการดำเนินงาน
  • – ผนวกรวมเกณฑ์ของผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรมเข้าในกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวควรเป็น ประเด็นทางวัฒนธรรมที่มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน เช่น ศาสนาและความเชื่อ ธรรมเนียมปฏิบัติ รูปแบบของโครงสร้างทางสังคม ระบบในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สถานที่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมพิธีกรรม ภาษา และจารีตประเพณี
  • – เสริมสร้างการมีส่วนร่วม ชนพื้นเมือง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยใช้ประเด็นคุณค่าทางวัฒนธรรมของพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวางแผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ
  • การปรับตัว
    – พื้นที่ชุ่มน้ำสามารถปรับตัวและมีความยืดหยุ่นในการลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
    • – พื้นที่ชุ่มน้ำสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากสภาวะที่รุนแรง จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น
      • – พื้นที่ชุ่มน้ำที่สมบูรณ์จะช่วยดูดซึมน้ำจากสภาวะน้ำท่วม ลดความรุนแรงและหายนะจากอุทกภัย
      • – พื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเลจะช่วยป้องกันระบบนิเวศและชุมชนจากพายุ และการสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล
      • – พื้นที่ชุ่มน้ำจะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำจืดที่สำคัญมาก ในบริเวณที่เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสภาพแห้งแล้ง
    • – หน้าที่ของพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้ เป็นความคุ้มค่าที่ยั่งยืนมากกว่าวิธีการแก้ปัญหาทางวิศวกรรมที่ทำกันมา
  • การบรรเทาความรุนแรง
    การปรับตัวและพัฒนาการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นวิธีการต่อสู้ทางธรรมชาติที่จะรับมือการรุกรานจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
    • – ต้องจำกัดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่ที่มีการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างไม่ถูกต้อง ที่กำลังมีการเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน
    • – การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีสภาพเสื่อมโทรมลงในปัจจุบัน
  • ความจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำและการกักเก็บคาร์บอน
    พื้นที่ชุ่มน้ำครอบคลุมพื้นที่ประมาณร้อยละ 6 ของพื้นที่บนโลก แต่ช่วยกักเก็บคาร์บอนบนพื้นโลกได้มากถึง ร้อยละ 35
    • – ป่าพรุเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทหนึ่งที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญมากที่สุดของระบบนิเวศบนบก
    • – ป่าพรุสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากเป็นสองเท่าของชีวมวลของป่าไม้บนโลก และยังสามารถกักเก็บคาร์บอนได้เป็นระยะเวลายาวนานกว่าป่าไม้ด้วย
    • – หากทำลายป่าพรุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงในประเทศอุตสาหกรรมหลักหลายเท่า
    • – การลงทุนในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อดูดซับและกักเก็บคาร์บอน เป็นการลงทุนที่น้อยที่สุดและคุ้มค่ากว่าการลดการปล่อยคาร์บอนด้วยวิธีอื่นๆ ได้ถึง 100 เท่า
  • ความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ
    การบริการนี้ได้รับจากระบบนิเวศ
    • – พื้นที่ชุ่มน้ำมีความสำคัญอย่างมากต่อการควบคุมมลพิษ การหมุนเวียนของธาตุอาหาร การเกิดชั้นดิน การไหลทดแทนของน้ำใต้ดิน การควบคุมสภาพอากาศ
    • – การควบคุมการพังทลายของดิน การควบคุมการจัดการสภาวะน้ำท่วมและความแห้งแล้งอย่างรุนแรง และเป็นแหล่งอาหารแหล่งน้ำจืด
    • – บทบาทในการเป็นแหล่งน้ำและควบคุมน้ำ ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นศูนย์กลางสำหรับการพัฒนาของมนุษย์
    • – สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจะมีผลกระทบการให้บริการเหล่านี้ โดยเฉพาะต่อวัฏจักรของน้ำ
  • บทบาทของความหลากหลายทางชีวภาพ
    การเกื้อหนุนการให้บริการของระบบนิเวศ
    • – ความหลากหลายทางชีวภาพ หมายความรวมถึงความหลากหลายของสายพันธุ์ ลักษณะทางพันธุกรรมและระบบนิเวศต่าง ความหลากหลายทางชีวภาพ
    • – ไม่ใช่เฉพาะต้นไม้ที่เห็นเท่านั้น แต่รวมไปถึงความหลากหลายของสายพันธุ์และหน้าที่โดยรวมของระบบนิเวศ ซึ่งเหล่านี้ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ
    • – ความหลากหลายทางชีวภาพเกื้อหนุนการให้บริการของระบบนิเวศ การรักษาความหลากหลายและความสมบูรณ์ของระบบนิเวศเป็นสิ่งจำเป็นต่อการให้บริการของระบบนิเวศ
    • – การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ จึงเป็นการสูญเสียการให้บริการ ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
  • ความเปราะบางของพื้นที่ชุ่มน้ำ
    ภาพจำลองเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำ
    • – พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพื้นที่หนึ่งในโลกที่ได้รับผลโดยตรงจากการคุกคามจากกิจกรรมของมนุษย์มากที่สุด และเป็นพื้นที่ที่มีสายพันธุ์ที่กำลังสูญพันธุ์เป็นสัดส่วนมากที่สุด
    • – อัตราการสูญเสียของความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำน้ำจืด (พ.ศ. 2540-2543) เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศน้ำทะเล และระบบนิเวศบก
    • – ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น จะคุกคามต่อระบบนิเวศ สายพันธุ์ และการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำ
    • – การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มปัจจัยในการสูญเสียทั้งทางตรงและทางอ้อม
  • ทำอย่างไรที่จะรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำ
    นี่คือทางออก
    • – รักษาปริมาณของคาร์บอนที่กักเก็บในพื้นที่ชุ่มน้ำให้คงอยู่อย่างที่ควรเป็น
    • – ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อช่วยลดปริมาณคาร์บอนและช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืนในการดำรงชีวิต
    • – ปลูกจิตสำนึกเกี่ยวกับความเชื่อมโยง ระหว่างน้ำ – พื้นที่ชุ่มน้ำ – ความหลากหลายทางชีวภาพ
    • – ให้มีความร่วมมืออย่างเต็มรูปแบบของสาธารณชน ภาคเอกชน และผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือแบบพหุภาคี
    • – สนับสนุนให้เกิดสิ่งจูงใจที่ดีสำหรับการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืนโดยการส่งเสริมศักยภาพในการปรับตัว และการบรรเทาความรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของพื้นที่ชุ่มน้ำให้มากที่สุด เช่น ก่อตั้งกลไกทางการเงินเพื่อฟื้นฟูและรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำ เพิ่มการสนับสนุนเงินลงทุนแก่ชุมชนท้องถิ่นในการปรับปรุงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำให้สอดคล้อง ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
    • – วิศวกรมองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นดังเช่นธรรมชาติคือมิตร ความหลากหลายทางชีวภาพไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่เสียหายด้วยการจัดการที่ผิดๆ เท่านั้น แต่ธรรมชาติซึ่งเป็นเพื่อนของเราต้องถูกจัดการอย่างดีขึ้น การใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาดเป็นการตอบสนองอย่างคุ้มค่า

อ้างอิง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. โปสเตอร์ 10 ปี ประเทศไทยการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาแรมซาร์ (พ.ศ. 2541 – 2551)

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ

ผลการศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ อาจจำแนกเป็นหัวข้อหลักๆ ได้แก่ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงปริมาณฝน (ความแห้งแล้งและภาวะน้ำท่วม) ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงคลื่นลม และพายุ

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ

– การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ มีผลกระทบถึงความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำประเทศไทยจัดอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง หรือพื้นที่วิกฤติ (Hot Spot) ต่อการสูญเสียทรัพยากรชีวภาพจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น มีความเป็นไปได้สูงมากที่ความหลากหลายทางชีวภาพจะลดลงพืชและสัตว์บางชนิดอาจสูญพันธุ์ไป หรือเปลี่ยนแปลงการแพร่กระจายของถิ่นที่อยู่อาศัย หากอุณหภูมิสูงขึ้น การระเหยของน้ำจากพื้นที่ชุ่มน้ำมากขึ้น และปริมาณฝนเปลี่ยนแปลงไป จะมีผลต่อระดับน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำ และมีผลทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงในบริเวณที่ระดับน้ำลดต่ำลง พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งของอ่างเก็บน้ำและทะเลสาบน้ำตื้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก พืชน้ำลดลงหรือหายไป เกิดผลกระทบต่อถิ่นที่อยู่และขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ ปลาและสัตว์น้ำ รวมทั้งสัตว์ครึ่งบก ครึ่งน้ำหลายชนิดอาจสูญพันธุ์ หรือต้องย้ายถิ่นที่อยู่ โดยเฉพาะชนิดที่ต้องพึ่งพิงระบบนิเวศริมฝั่งน้ำ นอกจากนี้การลดลงของพื้นที่ผิวของพื้นที่ชุ่มน้ำและปริมาณน้ำ จะมีผลต่อปริมาณความเข้มข้นของธาตุอาหารในน้ำ เช่น ไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ทำให้เกิด Eutrophication หรือการเติบโตในปริมาณมากของสาหร่ายและพืชน้ำ ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำใต้ดิน ซึ่งเชื่อมต่อกับพื้นที่ชุ่มน้ำก็จะสามารถทำให้เกิดการสูญเสีญของความหลากหลายทางชีวภาพได้

– ตัวอย่างพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิอากาศและน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ แอ่งน้ำซับ (อ่างกาหลวง) พรุน้ำจืด ลำห้วย ลำธาร ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ เป็นระบบนิเวศพรุน้ำจืดบนเทือกเขาสูง มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นพิเศษมีน้ำตื้นมาก อุณหภูมิของน้ำเย็นตลอดปีระบบนิเวศและทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่นี้มีความเสี่ยงหรือความล่อแหลมต่ออุณหภูมิ ทั้งของน้ำและอากาศที่จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างยิ่ง

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงปริมาณฝน (ความแห้งแล้งและภาวะน้ำท่วม)

– สภาวะโลกร้อนขึ้น ทำให้เกิดปรากฎการณ์ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน และเกิดภาวะแห้งแล้งขาดน้ำในหน้าแล้งและหน้าร้อน และปริมาณฝนต่อปีจะมีความแตกต่างกันมากในแต่ละพื้นที่ หากปริมาณฝนน้อยลง ปริมาณน้ำน้อยลง พืช/สัตว์ ขาดน้ำ/อาหาร

– ตัวอย่างพื้นที่ชุ่มน้ำที่จะได้รับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงปริมาณฝน ในปัจจุบันมีพื้นที่ชุ่มน้ำหลายแห่งของประเทศไทย ที่มีน้ำเฉพาะบางฤดู ฤดูแล้งน้ำแห้ง ประสบปัญหาภัยแล้งอยู่แล้ว เช่น บึงละหาน จ.ชัยภูมิ อ่างเก็บน้ำกึ่งธรรมชาติ พื้นที่ชุ่มน้ำในเขตห้ามล่าสัตว์อ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก จ.บุรัรัมย์ อ่างเก็บน้ำกึ่งธรรมชาติ พื้นที่ชุ่มน้ำในเขตห้ามล่าสัตว์อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด จ.บุรัรัมย์ (ซึ่งฤดูแล้งน้ำในอ่างลดลงถึงร้อยละ 75) และลำโดมใหญ่และพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าป่ายอดโดม จ.อุบลราชธานี แม้แต่แม่น้ำขนาดใหญ่ เช่น แม่น้ำโขง บริเวณเขตจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย มุกดาหาร นครพนม อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ก็กำลังประสบปัญหาสภาวะความแห้งแล้งบริเวณต้นน้ำลำธาร ปัญหาความผันแปรของความแตกต่างของระดับน้ำในฤดูแล้งและฤดูน้ำหลาก พื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้ หากปริมาณผลเปลี่ยนแปลงหรือ แปรปรวนจะได้รับผลกระทบสูง

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล

– การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกทำให้ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น มีผลต่อสภาวะคลื่นและการกัดเซาะชายฝั่ง ส่งผลต่อระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรชีวภาพที่สำคัญและเป็นแหล่งประกอบอาชีพของชุมชนชายฝั่ง มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นและเศรษฐกิจของประเทศ

– ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความเสี่ยง หรือล่อแหลมต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล ได้แก่ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (Delta) ปากแม่น้ำหรือชะวากทะเล (Eatuary)

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงคลื่นลม และพายุ

– การเกิดคลื่นขนาดใหญ่ พายุใต้ฝุ่น พายุโซนร้อน พายุฝน และน้ำท่วมใหญ่บ่อยครึ่งขึ้น ทวีความรุนแรงขึ้น และมีความถี่ความขึ้นในแต่ละปี จะมีผลกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล

– ตัวอย่างพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลที่เคยได้รับผลกระทบจากพายุ เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอด จ.ประจงบคีรีขันธ์ และพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติหลายแห่ง บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน ในจังหวัดระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต เคยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ

อ้างอิง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การศึกษาสถานการณ์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

พื้นที่ชุ่มน้ำในเมือง

ประชากรจำนวน 4 พันล้านคน ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรโลก นั้นอาศัยอยู่ในเขตเมือง และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้คนจำนวนมากย้ายเข้ามาในเมืองเพื่อค้นหางานและโอกาสที่ดีกว่า จำนวนของเมืองใหญ่ที่มีประชากรมากกว่าสิบล้านคนจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 31 เป็นร้อยละ 41 ในปี ค.ศ. 2030

ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีการเฉลิมฉลองวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลกขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยมีประเด็นหลักของปี ค.ศ. 2018 คือ “พื้นที่ชุ่มน้ำเพื่ออนาคตเมืองที่ยั่งยืน” เน้นบทบาทที่สำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อการเป็นเมืองที่ยั่งยืน ซึ่งพื้นที่ชุ่มน้ำเขตเมืองมีความสำคัญและมีส่วนทำให้เมืองน่าอยู่

ในช่วงที่มีพายุ พื้นที่ชุ่มน้ำในเขตเมืองจะช่วยดูดซับปริมาณน้ำฝนส่วนเกิน ซึ่งจะช่วยลดการเกิดน้ำท่วมในเมืองและป้องกันภัยพิบัติ รวมถึงลดความเสียหายและค่าใช้จ่ายที่ตามมา พืชพรรณอันอุดมสมบูรณ์ที่พบในพื้นที่ชุ่มน้ำในเมืองทำหน้าที่เป็นตัวกรอง ขยะในครัวเรือนและอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วย ปรับปรุงคุณภาพน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำเขตเมืองเป็นเมืองที่มีน้ำและเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์

การพัฒนาและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในปัจจุบันเป็นข้อกังวลหลักสำหรับการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด ในขณะที่เขตเมืองขยายและเติบโตขึ้น มีความต้องการที่ดินยิ่งเพิ่มมากขึ้น จึงมีแนวโน้มในการบุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำมักจะถูกมองว่าไม่มีประโยชน์ พร้อมที่จะถูกปรับเปลี่ยนเพื่อวัตถุประสงค์อื่น พื้นที่ชุ่มน้ำในเมืองสามารถให้ประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรม หากมีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงควรบูรณาการร่วมกับการวางแผน การพัฒนา และการจัดการของเมืองต่างๆ ในอนาคต

การอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล

สถานการณ์พื้นที่ชุ่มน้ำในพื้นที่ทะเลและชายฝั่ง

พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลจะประกอบด้วย บริเวณปะการังน้ำตื้น หญ้าทะเล และป่าชายเลนซึ่งปัจจุบัน พบว่าปะการัง ตั้งแต่ขอบนอกจนถึงริมฝั่งมีอยู่ 95,937 ไร่ อยู่ในสภานภาพดีมาก 11% ดี 21% ปานกลาง 32% เสียหาย 18% และเสียหายมาก 18% ส่วนพื้นที่หญ้าทะเลจํานวน 64,507 ไร่ มีสภาพสมบูรณ์ถึงสมบูรณ์มาก 60% สมบูรณ์ปานกลาง 20% และสมบูรณ์น้อย 20% ซึ่งพบทั้งหมด 12 ชนิดในพื้นที่อ่าวไทย พบ 12 ชนิด และที่พื้นที่อันดามันพบ 11 ชนิด สําหรับพื้นที่ป่าชายเลนส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ของประเทศประมาณ 87.75 % จํานวน 1,349,648.74 ไร่ ภาคตะวันออก 9.31% จำนวน 154,374.46 ไร่ และภาคกลางหรือบริเวณอ่าวไทยตอนบน 4.94% จำนวน 75,757.57 ไร่ (วิโรจน์, 2550) แหล่งหญ้าทะเลในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ซึ่งเคยครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 104 ตร.กม. และแหล่งหญ้าทะเลที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่พบที่เกาะพระทองจังหวัดพังงา และหาดเจ้าไหม จังหวัดตรังนั้น แต่การสํารวจในปี พ.ศ. 2547 พบว่ายังเหลือแหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์ประมาณ 60% และประมาณ 20% ของจํานวนที่เหลืออยู่ในสภาพเสื่อมโทรม (ONEP, 2006)

“อ้างอิง : มงคล ไชยภักดี และวัลยา ชนิตตาวงศ์ 2550 สถานการณ์และการบริหารพื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทย หน้า 305-327 ในผลงานวิจัยและรายงานความก้าวหน้างานวิจัยประจำปี 2549 กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯ”

พื้นที่ทางทะเลที่ได้รับการประกาศ

ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 และให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 ปัจจุบันมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) 14 แห่งในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลจำนวน 10 แห่ง ได้แก่

1. พื้นที่ชุ่มน้ำในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
2. พื้นที่ชุ่มน้ำพรุควนขี้เสียน จังหวัดพัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช
3. พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม
4. พื้นที่ชุ่มน้ำในอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ จังหวัดระนองและพังงา
5. พื้นที่ชุ่มน้ำปากน้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่
6. พื้นที่ชุ่มน้ำในอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง
7. พื้นที่ชุ่มน้ำในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
8. พื้นที่ชุ่มน้ำในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา
9. พื้นที่ชุ่มน้ำเกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช
10. พื้นที่ชุ่มน้ำหมู่เกาะระ-เกาะพระทอง จังหวัดพังงา

การอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล

1. พื้นที่ชุ่มน้ำในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
จัดทำมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยการศึกษาการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับปัญหาของแต่ละพื้นที่หนองบึงที่ได้รับการจัดระดับความสำคัญ การวางแนวทางแก้ไข กำหนดมาตราการที่เหมาะสมเฉพาะพื้นที่มาดำเนินการ โดยวิธีจัดเป็นชุดมาตราการ 3 ชุด คือ มาตราการตามมติคณะรัฐมนตรี มาตราการเสริม และมาตราการเร่งด่วน

ชุดมาตราการตามมติคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย 5 มาตรการ คือ

  • 1) การดำเนินการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ นำเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มึความสำคัญระหว่างนี้ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar Sites) ได้แก่ ทุ่งสามร้อยยอด และพื้นที่ชุ่มน้ำในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
  • 2) การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยการเร่งรัดออกหนังสือสำคัญที่หลวงและการจัดทำแนวเขต พื้นที่หนองบึง
  • 3) การแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมระบบนิเวศ โดยให้มีการฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่หนองบึง ในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านมลพิษแหล่งน้ำ ระบบน้ำและการถูกทำลายองค์ประกอบของแหล่งธรรมชาติ
  • 4) การบริหารจัดการ ให้มีการจัดทำแผนการระยะสั้นและระยะยาวพื้นที่หนองบึงโดยมีการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่เป็นเขตอนุรักษ์และเขตพัฒนา พร้อมทั้งกำหนดแนวเขตกันชนพื้นที่ ตลอดจนกำหนดกิจกรรมที่สามารถกระทำได้และห้ามกระทำในพื้นที่
  • 5) การศึกษาวิจัย โดยให้มีการศึกษาวิจัยระบบนิเวศพื้นที่หนองบึงและเผยแพร่ข้อมูลแก่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีประเด็นการศึกษาวิจัยที่ควรดำเนินการ ได้แก่ การหาแนว ทางการใช้น้ำอย่างประหยัด การฟื้นฟูสนุ่นหรือปึ๋งและระบบนิเวศหนองบึง การกำจัดพืชต่างถิ่น และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ในลักษณะ bird watching เป็นต้น
  • การแก้ไขปัญหาไฟป่า ให้มีการควบคุมป้องกันไฟป่าในพื้นที่หนองบึง รวมทั้งทบทวนการจัดการน้ำให้มีระดับน้ำระดับที่เหมาะสม

ชุดมาตรการเสริม

  • 1) แนวทางการบริหารจัดการพื้นที่หนองบึงที่อยู่ในหลายเขตการปกครอง ดำเนินการร่วมกันจัดทำแผนการระยะสั้นและระยะยาวพื้นที่หนองบึงร่วมกัน ซึ่งจะเป็นแผนบริหารจัดการรวมทั้งพื้นที่ และสามารถกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยการปกครองที่เกี่ยวข้อง
  • 2) มาตรการแก้ไขปัญหาด้านที่ดิน โดยการกำหนดข้อตกลงการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ที่สอดคล้องกับพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมทั้งมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อป้องกันการบุกรุกเพิ่มเติม
  • 3) มาตรการด้านคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยการประกาศพื้นที่ที่มีลักษณะทางกายภาพเป็นแหล่งสะสมซากอินทรีย ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศและมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แหล่งน้ำของหนอง ประเภทหนอง บึงที่มาจากน้ำซับเหนือน้ำพุซึ่งเป็นลักษณะที่หายากและเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร รวมทั้งลักษณะที่เป็นแหล่ง โบราณคดี เป็นเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
  • การทบทวนพื้นที่ชุ่มน้ำที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง
  • จัดให้มีการบริหารจัดการน้ำเข้าเพื่อกักเก็บในหนองบึง เพื่อป้องกันน้ำเสียจากภาคเกษตรกรรมเข้าพื้นที่ชุ่มน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก และจัดให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำเสียจากแหล่งมลพิษ
  • การพัฒนาประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำสำหรับชุมชน โดยมี 2 แนวทาง คือ
    • 1) การปรับปรุงองค์การบริหารท้องถิ่น ให้มีบุคคลากรเข้าดำเนินการอย่างชัดเจน
    • 2) จัดตั้งองค์กรในรูปคณะกรรมการเพื่อเข้ามาดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่

ชุดมาตรการเร่งด่วน

  • เร่งรัดให้มีการดำเนินการทางบริหารเพื่อบังคับใช้มาตรการตามมติคณะรัฐมนตรี
  • จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดิน
  • วางมาตรการควบคุมการปรับปรุงพื้นที่ด้วยวิธีใดๆ ที่จะมีผลกระทบต่อระบบน้ำต้องจัดให้มีการ จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
  • ดำเนินการให้ชุมชนจัดท้าข้อตกลงการใช้ทรัพยากร เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อธรรมชาติของหนองบึง
  • การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ในด้านการให้ความรู้พื้นฐาน มาตรการที่เกี่ยวข้องทั้งด้านบริหารและกฎหมาย และข้อตกลง ระหว่างประเทศ รวมทั้งผลการศึกษา เพื่อให้เกิดความตระหนักโดยทั่วกัน

ข้อมูลเพิ่มเติม

2. พื้นที่ชุ่มน้ำพรุควนขี้เสียน ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย

กรมป่าไม้มีโครงการร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดให้มีโครงการ “ศูนย์ศึกษาธรรมชาติทะเลน้อย” ขึ้นเพื่อดำเนินกระบวนการให้ความรู้ สร้างจิตสำนึก จัดค่ายฝึกอบรมด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นสถานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติซึ่งเป็นพื้นที่แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติในทะเลน้อยจากการใช้ประโยชน์โดยตรงของประชาชน และส่งเสริมรายได้ให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น จากการ ท่องเที่ยวเพื่อรักษาทรัพยากรเหล่านี้ไว้ให้คงอยู่อำนวยประโยชน์อย่างยั่งยืน

โครงการศูนย์ศึกษาธรรมชาติทะเลน้อย จึงได้จัดตั้งขึ้นโดยกรมป่าไม้ และการสนับสนุนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทำการศึกษา สำรวจ ออกแบบ เพื่อก่อสร้าง จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน เพื่อเป็นแหล่งสำหรับศึกษาหาความรู้ ฝึกอบรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) เป็นสำคัญ และ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจให้ความสุขด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติแก่ประชาชน ซึ่งได้รับการจัดให้อยู่ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยเริ่มการก่อสร้างในปี พ.ศ.2545 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2546 เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2546 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ออกคำสั่งเปลี่ยนชื่อหน่วยงานจาก “ศูนย์ศึกษาธรรมชาติทะเลน้อย” เป็น “สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าทะเลน้อย”

3. พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด

ปัจจุบัน ดอนหอยหลอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด ความต้องการหอยหลอดของนักท่องเที่ยว ร้านอาหารมีเพิ่มมากขึ้นจนเกินกำลังการผลิตตามธรรมชาติ และอยู่ในภาวะ กำลังเสื่อมโทรม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการรณรงค์กระตุ้นให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดอนหอยหลอดและจังหวัดใกล้เคียงได้ตระหนักถึงคุณค่าและเห็นความสำคัญของดอนหอยหลอดและให้ร่วมมือกันอนุรักษ์ ฟื้นฟูดอนหอยหลอดให้กลับมามีสภาพสมบูรณ์ดังเดิม

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ โดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยงานประสานงานกลางอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ร่วมกับจังหวัดสมุทรสงคราม และเครือข่ายอนุรักษ์ดอนหอย จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ในวันที่ 1 ก.พ. 2553 ณ บริเวณศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ดอนหอยหลอด ตำบลบางจะเกร็ง จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก” โดยมีกิจกรรมสำคัญต่างๆ มากมาย เช่น

  • – การเดินรณรงค์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำของเครือข่ายอนุรักษ์ เยาวชนจากจังหวัดสมุทรสงคราม ข้าราชการและอาสาสมัครของกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกองลูกเสืออนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • – การกล่าวคำปฏิญาณ การมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่เครือข่ายอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ
  • – การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำและการเสวนาเรื่องอนาคตของดอนหอยหลอดเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปีที่พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอดขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ ไซต์ หรือ พื้นที่ชุ่มน้ำโลก
  • – การจัดนิทรรศการและการละเล่นของชมรม/กลุ่มอนุรักษ์ สถานศึกษาในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

4. พื้นที่ชุ่มน้ำในอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำ กระบุรี-ปากคลองกะเปอร์

มีแผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำในบริเวณพื้นที่ศึกษา มีรูปแบบเป็นแผนดำเนินการเชิงระบบ (System Approach) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยได้กำหนดกลยุทธ์หรือแนวทางในการดำเนินการไว้ 6 กลยุทธ์ ดังต่อไปนี้

  • กลยุทธ์ที่ 1 การสงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แบ่งออกเป็น 2 มาตรการ คือ
    • – ให้มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม
    • – ให้มีการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะ น้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดประเภทต่างๆ
  • กลยุทธ์ที่ 2 การจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการบริการท่องเที่ยว แบ่งเป็น 6 มาตรการ คือ
    • – ให้มีการเตรียมความพร้อมในการบริการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมเพียงพอ และได้มาตรฐาน
    • – ให้มีการบริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศธรรมชาติท้องถิ่นแก่แหล่งท่องเที่ยว เพื่อป้องกันและลดอุบัติภัยบนถนน รวมทั้งมลพิษทางอากาศ
    • – ให้มีการบริการด้านการรักษาความปลอดภัย การป้องกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุ่มน้ำ
    • – การจัดการด้านการประกอบการ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในพื้นที่ในการพัฒนาควบคุม และดูแลซึ่งกันและกัน เพื่อรักษาสถานที่ท่องเที่ยว
    • – ส่งเสริมบริการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐาน มีการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการในการดำเนินกิจกรรมกลุ่ม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อวางรากฐานการพัฒนาให้มีรูปแบบการท่องเที่ยวเป็นแบบธรรมชาติ
    • – ให้มีการส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นจัดบริการท่องเที่ยว
  • กลยุทธ์ที่ 3 การสร้างจิตสำนึก และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนแบ่งออกเป็น 7 มาตรการ
    • – ให้มีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในเชิงรุกระดับภาพรวม และเชิงลึกในระดับพื้นที่
    • – ให้ดำเนินการสร้างจิตสำนึก โดยจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบศึกษาธรรมชาติ ควบคู่กับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
    • – ให้ดำเนินการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจในคุณค่า และความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ
    • – ให้ดำเนินการสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของพื้นที่ชุ่มน้ำ
    • – ให้ความรู้ความเข้าใจพื้นฐานถึงความสำคัญและความจำเป็นในการอนุรักษ์ความหลากหลายในพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
    • – ให้มีการอบรม ให้การศึกษากับผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
    • – เพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากร โดยการพัฒนาให้มีความรู้ความสามารถในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
  • กลยุทธ์ที่ 4 การจัดการด้านองค์กร กฎหมาย การบริหารและการจัดการแบ่งออกเป็น 1 มาตรการ
    • – เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
  • กลยุทธ์ที่ 5 การศึกษาวิจัย แบ่งออกเป็น 1 มาตรการ
    • – ให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาข้อมูลพื้นที่ชุ่มน้ำ
  • กลยุทธ์ที่ 6 การติดตาม ตรวจสอบ คุ้มครอง และเฝ้าระวังแบ่งออกเป็น 2 มาตรการ
    • – ให้มีการติดตาม/ตรวจสอบ/คุ้มครองและเฝ้าระวังภาวะการคุกคามต่อพื้นที่ชุ่มน้ำ
    • – ให้มีการควบคุมและป้องกันไฟป่าในพื้นที่ชุ่มน้ำ

5. พื้นที่ชุ่มน้ำปากน้ำกระบี่

มีแนวทางและมาตรการและแผนปฏิบัติการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ดังนี้

  • – อนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำและพื้นที่โดยรอบที่เสื่อมโทรมหรือถูกบุกรุกทำลาย เช่น โครงการจัดทำแนวทาง การอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุมน้ำและพื้นที่โดยรอบที่เสื่อมโทรมและถูกทำลายโดยชุมชนมีส่วนร่วม โครงการจัดทำแนวทางและมาตรการการอนุรักษ์และการติดตามเฝ้าระวังการคุกคามแหล่งหญ้าทะเล หอยชักตีน พะยูน โลมา และวาฬ ฯลฯ
  • – เสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำตามแนวทางของอนุสัญญาแรมซาร์ เช่น โครงการผลิตและพัฒนาสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการอนุรักษ์ฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำตามแนวทางของอนุสัญญาแรมซาร์ โครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและระบบสารสนเทศ (GIS) และเครือข่ายข้อมูลพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ ฯลฯ
  • – ส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อเสริมสร้างคุณค่าและรักษาความงดงามของพื้นที่ชุ่มน้ำให้สอดคล้องกับแนวทางของอนุสัญญาแรมซาร์ เช่น โครงการจัดตั้งศูนย์ศึกษาธรรมชาติและโปรแกรมสื่อความหมายธรรมชาติพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ โครงการจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครและเครือข่ายภาคเอกชนและผู้ประกอบการ ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ ฯลฯ
  • – เสริมสร้างขีดความสามารถและประสิทธิภาพของ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการให้มีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำตามแนวทางของอนุสัญญาแรมซาร์ เช่น โครงการฝึกอบรมการบริหารจัดการกองทุนอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ (WCRF) โครงการศึกษาดูงานของบุคลากร ภาคเอกชนและผู้ประกอบการ เกี่ยวกับการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำ ตามแนวทางของอนุสัญญาแรมซาร์ ฯลฯ
  • – เสริมสร้างประสิทธิภาพและกลไกการปฏิบัติงานตามนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น โครงการฝึกอบรมอาสาสมัครและเครือข่ายภาคเอกชน และผู้ประกอบการสนับสนุนการปฏิบัติงานการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ โครงการจัดตั้งคณะอนุกรรมการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ ฯลฯ
  • – จัดการควบคุมและลดผลกระทบจากกิจกรรมพัฒนาและการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่มีต่อระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ เช่น โครงการศึกษากำหนดมาตรการและการออกระเบียบและข้อบัญญัติในการควบคุมการทิ้งและกำจัดสิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอย และน้ำเสียจากชุมชน โครงการจัดทำมาตรการและเขตปลอดขยะของชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ฯลฯ
  • – รณรงค์ประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับคุณค่า ความสำคัญและบทบาทของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่น เช่น โครงการผลิตสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และจัดตั้งหอกระจายข่าวประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับคุณค่า ความสำคัญและบทบาทของระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ โครงการจัดงานเฉลิมฉลองวันพื้นที่ชุ่มน้ำ ฯลฯ

ข้อมูลเพิ่มเติม

6. พื้นที่ชุ่มน้ำในอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม

เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-หมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรังอย่างยั่งยืน มีมาตราการ ดังนี้

  • มาตราการที่ 1 ส่งเสริมความรู้และสร้างจิตสำนึกให้ตระหนักในความสำคัญและคุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง
  • มาตราการที่ 2 จัดการคุ้มครองอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง
  • มาตราการที่ 3 เสริมสร้างแรงจูงใจในการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง อย่างยั่งยืน
  • มาตราการที่ 4 เสริมสร้างสมรรถนะในการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง
  • มาตราการที่ 5 ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนาข้อมูลพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง
  • มาตราการที่ 6 ส่งเสริมความร่วมมือกับนานาประเทศ
  • มาตราการที่ 7 การติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง

ข้อมูลเพิ่มเติม

7. พื้นที่ชุ่มน้ำในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง

บริเวณหมู่เกาะอ่างทองเป็นแหล่งที่เรียกว่า “ช่องอ่างทองการทำประมง” เป็นแหล่งเพาะฟักของปลาในวัยเจริญพันธุ์และวัยอ่อนของสัตว์เศรษฐกิจ ได้แก่ ปลาทู รวมถึงกุ้ง หอย ปู ปลาต่างๆ และปะการัง ชีวิตใต้ท้องทะเล ณ หมู่เกาะแห่งนี้อุดมสมบูรณ์อย่างมาก แต่การคุกคามจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย เช่น อวนรุน อวนลาก ที่มีปริมาณค่อนข้างมาก รวมทั้งมลพิษจากอ่าวบ้านดอน ทำให้คุณภาพน้ำไม่อยู่ในระดับมาตรฐาน ส่งผลทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมต่อปริมาณสัตว์น้ำของปริมาณหมู่เกาะอ่างทอง จึงมีมาตรการปิดอ่าวในช่วงฤดูที่ปลาวางไข่ซึ่งจะช่วยชะลอการลดลงของประชากรสัตว์น้ำได้ในระดับหนึ่ง

เนื่องจากหมู่เกาะอ่างทองมีศักยภาพของการท่องเที่ยวทางธรรมชาติในลักษณะไป – กลับ จึงมีนักท่องเที่ยวจากเกาะสมุยเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นประจำทุกวัน ทำให้การบำรุงรักษาหมู่เกาะอ่างทอง มีเข้มงวดเป็นพิเศษ เพราะวัตถุประสงค์การจัดตั้งเป็นอุทยานฯ คือ เพื่อการอนุรักษ์ นอกจากนี้หมู่เกาะอ่างทองมีความหลากหลายทางธรรมชาติสูงถือเป็นห้องสมุดทางธรรมชาติที่ควรมาเรียนรู้ ดังนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้ความสำคัญโดยเฉพาะมิติการดูแลความสะอาด ต้องปราศจากขยะ

“การจัดการขยะที่หมู่เกาะอ่างทอง ไม่น่ากังวล เพราะมีขยะน้อยมาก อาหาร นักท่องเที่ยวจะนำมาเอง ด้วยการเตรียมภาชนะมาใส่ ส่วนเศษอาหารที่เหลือจะนำกลับไปทิ้งบนฝั่ง หรือไปจัดการที่เกาะสมุย จึงไม่ค่อยกังวลเรื่องขยะ แต่เรื่องที่กังวล คือ ขยะทะเล ที่พัดมาจากจังหวัดอื่นๆ หรือต่างประเทศ เพราะทราบดีว่าขยะทะเลไม่มีพรหมแดน การบริหารจัดการขยะทะเลจึงน่าเป็นกังวลโดยเฉพาะช่วงมรสุม”

กิจกรรมค่ายเยาวชนอนุรักษ์ทะเล “Rejuvenating the Oceans” ปลูกฝังจิตสำนึกปกป้องธรรมชาติ

บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG จัดกิจกรรมค่ายเยาวชนอนุรักษ์ทะเล “Rejuvenating the Oceans” ร่วมกับ EEC Thailand ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นนักเรียนและคณะครูโรงเรียนบ้านบางแรด ในพื้นที่โครงการลมลิกอร์ของบริษัท ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีกิจกรรมเริ่มจากห้องเรียนวิชา สมุทรศาตร์ ทฤษฎีการดำน้ำเชิงอนุรักษ์ ห้องปฏิบัติการปลาทะเล สู่การออกไปเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมจริงในทะเลที่มีความสมบูรณ์ทางชีวภาพระดับต้นๆ ของบริเวณอ่าวไทย เรียนรู้การดำน้ำเพื่อศึกษาชนิดพันธุ์ ปลาและปะการังหลากชนิดเชิงอนุรักษ์ รวมถึงการทดสอบคุณภาพน้ำทะเล และเรียนรู้การจำแนกชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิตทางทะเลอีกด้วย

เป็นการเรียนรู้ ‘เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ในสิ่งแวดล้อม และเพื่อสิ่งแวดล้อม’ ให้ความสำคัญของการปลูกฝังเยาวชน ให้มีจิตสำนึกในการปกป้องและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเล ผ่านการเรียนรู้ และกิจกรรมสันทนาการ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ การคิดอย่างเป็นระบบต่อความหมายของสิ่งแวดล้อมศึกษา

8. พื้นที่ชุ่มน้ำในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา

อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก สร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นฐานสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้หวงแหนดูแลรักษาทรัพยากรในบ้านตัวเองเพื่อการใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนในอนาคต เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนและชุมชนรอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาเห็นความสำคัญ และมีจิตสำนึกในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นตน รวมถึงเป็นการสร้างเครือข่ายด้านอนุรักษ์ในระดับเยาวชนและชุมชนรอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติ จึงมีการจัดทำกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมา เช่น การจัดสร้าง “ห้องเรียนธรรมชาติ” บริเวณเกาะละวะใหญ่ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา ขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชน, กิจกรรม รณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกในเกาะปันหยี ร่วมครูป่าไม้, กิจกรรมชาวพังงาบูรณาการลดปัญหาขยะทะเลด้วยการทำความสะอาดรอบแหล่งท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีปัญหาและแนวทางการอนุรักษ์ของเกาะตะปูหรือเขาตะปู ที่เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานอ่าวพังงาอีกด้วย สำหรับแนวทางการอนุรักษ์นั้น นอกจากจะต้องจำกัดกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งจะรบกวนต่อเกาะตะปูแล้ว ต้องศึกษาข้อมูลรายละเอียดทางด้านธรณีวิทยา เช่น วัดรอยแตกรอยแยก ซึ่งจะมีผลต่อการพังของหิน และหาโพรงในเนื้อหินที่ฐานรากของเกาะ ศึกษารายละเอียดทางด้านวิศวกรรม เพื่อคำนวณหาน้ำหนักของส่วนบนที่กดทับลงบนฐานราก หาสมบัติความแข็งแรงในการรับน้ำหนักของหินปูน หาอายุของซากหอยที่สัมพันธ์กับรอยน้ำเซาะ ทั้งนี้เพราะหอยนางรมเป็นสัตว์เกาะติดที่ (Sessile) ที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ในระดับน้ำขึ้นน้ำลง อายุซากหอย คือช่วงเวลาที่น้ำทะเลได้กัดเซาะให้เกาะตะปูเกิดรอยเว้า รอยเว้าที่น้ำทะเลกัดเซาะหินปูนนำไปคำนวณหาอัตราการกัดเซาะต่อปีของเกาะตะปู ข้อมูลจากการศึกษาเหล่านี้จะเป็นแนวทางในการออกแบบทางวิศวกรรมโครงสร้าง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับส่วนที่คอดกิ่ว อย่างสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมให้มากที่สุด

9. พื้นที่ชุ่มน้ำเกาะกระ

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะลได้ดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่หมู่เกาะกระ ได้แก่ การสำรวจและจัดทำหนังสือการประชุม และจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำและให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชนเข้าร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการอนุรักษ์เต่าทะเล รวมทั้งการแจกคู่มือการช่วยเหลือเต่าทะเลเพื่อการอนุรักษ์เต่าทะเล นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำทุ่นผูกเรือและเก็บขยะใต้น้ำ เพื่อลดผลกระทมบจากการท่องเที่ยว และการตรวจตราเฝ่าระวังการทำประมงผิดกฎหมายในพื้นที่ กิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ชุมน้ำเกาะกระ เช่น

  •         – กิจกรรมวันทะเลโลก
  •         – กิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรสัตว์ทะเลหายาก (เต่าทะเล)
  •         – การสร้างโรงเรือนเพาะพันธุ์เต่าทะเล
  •         – กิจกรรมค่ายเยาวชนคนรักษ์ทะเลไทย
  •         – กิจกรรมทำความสะอาดหาดและแนวปะการัง
  •         – กิจกรรมเสริมความรู้ให้นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน (พื้นที่ชุ่มน้ำเกาะกระ)
  •         – กิจกรรมจัดประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำทะเล
  •         – กิจกรรมวางปะการังเทียม

อ่านเพิ่มเติม

10. พื้นที่ชุ่มน้ำหมู่เกาะระ-เกาะพระทอง

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้จัดทำแผนการดำเนินงานว่าด้วยการทบทวนสถานภาพทรัพยากรในพื้นที่ชุ่มน้ำ อนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟู และบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำและจัดทำโครงการแนวทางการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืนโดยประชาชนมีส่วนร่วม โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่ต่างๆ โครงการจัดสร้างปะการังเทียม โครงการสงวนคุ้มครองสัตว์และระบบนิเวศทางทะเล โครงการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล โครงการจัดการที่ดินชายทะเล ซึ่งเป็นการจัดลำดับความสำคัญตามความเร่งด่วนของพื้นที่ในการดูแลบริหารจัดการ ด้านการสนับสนุนงบประมาณประจำปีในการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องตามแผนกลยุทธ์ฯ พ.ศ. 2559 – 2564 

บริการจากระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ
  • ด้านวัฒนธรรม พื้นที่ที่มีคุณค่าทางจิตใจและความเชื่อ การนันทนาการและการพักผ่อนการท่องเที่ยว แหล่งขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม
  • ด้านการเป็นแหล่งผลิต แหล่งอนุบาลปลา สัตว์น้ำอื่น ๆ แหล่งผลิตเนื้อไม้ อาหารสัตว์ แหล่งทรัพยากรพันธุกรรม แหล่งผลิตน้ำท่า เพื่อการอุปโภค-บริโภค แหล่งสมุนไพร/ยารักษาโรค
  • ด้านการควบคุม การกักเก็บคาร์บอน การกรองสารพิษ การควบคุมการไหลของน้ำ การบรรเทาน้ำท่วม การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง การย่อยสลายของเสีย

บริการที่ได้จากระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทต่าง ๆ

ประเภท
ของพื้นที่
ชุ่มน้ำ
บริการจาก
ระบบนิเวศ
พื้นที่ชุ่มน้ำในแผ่นดิน
พื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล
พื้นที่ชุ่มน้ำที่สร้างขึ้น
แม่น้ำ
ทะเลสาบ
ป่าพรุ
หนองน้ำ
น้ำใต้ดิน
ลุ่มน้ำเค็ม
ป่าชายเลน
แนวหญ้าทะเล
แนวปะการัง
แนวเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เปลือกแข็ง
ทะเลสาบน้ำเค็ม / ชายฝั่ง
สาหร่าย
อ่างเก็บน้ำ
นาข้าว
ทุ่งหญ้าที่น้ำขัง
บ่อบำบัดน้ำเสีย
นาเกลือ
บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
ด้านการเป็นแหล่งผลิต
อาหาร         –                          
น้ำจืด             – – – –   –   – –   – –
เส้นใย & เชื้อเพลิง         –   – – – –   –   – –   –  
ผลิตภัณฑ์ชีวเคมี   ? ?   ?     ?   ? ?   ? – ? ?   ?
ทรัพยากรพันธุกรรม     ? ? ?     ?   ? ? ?     ? ?    
ด้านการควบคุม
สภาพภูมิอากาศ                       –       –   –
อุทกวิทยา               – – –   –       – – –
ควบคุมมลภาวะ                   –   ?         – –
ป้องกันการกัดเซาะ                                   –
ภัยธรรมชาติ         –                     –   –
ด้านวัฒนธรรม
คุณค่าทางใจ & แรงบันดาลใจ           ?   ?   –   –       –   –
แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ           ? ? ?   –           –   –
สุนทรียภาพ               –   –   –       –   –
การศึกษา                                    
ด้านการสนับสนุน
ความหลากหลายทางชีวภาพ                                    
การสร้างดิน         –     – – – – –           –
การหมุนเวียนสารอาหาร                   –                
การผสมเกสร         –       – – – ?           –
หมายเหตุ :    บทบาทสูง    บทบาทปานกลาง    บทบาทน้อย ?ไม่มีข้อมูล –ไม่เกี่ยวข้อง

ที่มา : ดัดแปลงจาก Ramsar Convention on Wetlands. (2018). Global Wetland Outlook: State of the World’s Wetlands and their Services to People. Gland, Switzerland: Ramsar Convention Secretariat.–  


กองอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ
กรมทรัพยากรน้ำ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ติดต่อเรา
0 2271 6000 ต่อ 6157
0-2298-6610
-
180/3 ถนนพระรามที่ 6 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพ 10400

    แผนที่

    จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์

    002085
    Users Today : 1
    Total Users : 2085
    Who's Online : 1

    Copyright © 2023 พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands For Thai)